วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

หมูกระทะ มรณะ พิษร้าย...ภัยใกล้ตัว


   หลังจากเป็นภัยเงียบที่เล่าลือกันในหมู่นักกินมาช้านาน ล่าสุดหมูกระทะอาหารบุฟเฟต์ยอดนิยมในสังคมไทยก็แผลงฤทธิ์ หลังจากมีนักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชื่อดังที่จังหวัดเชียงใหม่ต้องเสียชีวิตจากการติดเชื้อ
       
       สร้างความตื่นตระหนกให้กับเหล่านักกินขาลุยอยู่ไม่น้อย จากที่ข่าวลือมากมายของภัยใกล้ตัวในร้านหมูกระทะที่กลายเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นอะไรบ้างในวัฒนธรรมการกินบุฟเฟต์แบบร้านหมูกระทะ ที่ดูเหมือนความคุ้มค่าของปริมาณจะสำคัญกว่าความปลอดภัยของชีวิต
       
       4 ภัยเสี่ยงในร้านหมูกระทะ
       
       การกินบุฟเฟต์หมูกระทะนั้นเป็นที่นิยมมาก โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีชื่อการันตีถึงความคุ้ม จุใจ จากการเป็นบุฟเฟต์ที่กินได้ไม่อั้น รวมทั้งเมนูที่มีการพัฒนาให้หลากหลายซึ่งเกิดจากการแข่งขัน เพราะร้านหมูกระทะมีแทบจะทุกที่ เมื่อการแข่งขันมากขึ้น ราคาค่าหัวที่ถูกลง ยิ่งร้านส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารข้างทาง ไม่แปลกที่จะทำให้มีการตั้งข้อสังเกตถึงความปลอดภัยในร้านหมูกระทะกันมากขึ้น โดยทีมข่าว Live ได้รวบรวมกรณีภัยอันตรายเกิดขึ้นในร้านหมูกระทะ
       
       1.เนื้อปลาปักเป้า
       
       ช่วงต้นปีที่ผ่านมามีร้านหมูกระทะหลายร้านนำเนื้อปลาปักเป้ามาใช้แทนเนื้อไก่ จากปกติที่สาธารณสุขมีมาตรการห้ามจำหน่ายเนื้อปลาปักเป้าทุกชนิดและอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสม ดร.พูลทรัพย์ วิรุฬหกุล ผู้เชี่ยวชาญจากกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า เนื้อปลาชนิดนี้มีสารพิษที่ทนความร้อนได้สูงมาก จนทำให้ไม่ถูกทำลายโดยความร้อน หากรับประทานไปแล้วจะเข้าไปทำลายระบบกล้ามเนื้อประสาท ทำให้ลิ้นชา อาเจียน หายใจลำบากและอาจถึงตายได้ 
       
       2.ปลาหมึกโซดาไฟ
        
       หลังจากมีกระแสใช้เนื้อปลาปักเป้าแทนเนื้อไก่ อดีตพนักงานร้านหมูกระทะแห่งหนึ่งก็ออกมาเปิดเผยถึงเบื้องหลังร้านหมูกระทะว่า ผู้ประกอบการบางรายมีการใช้น้ำยาล้างห้องน้ำ ที่มีส่วนผสมของโซดาไฟในการแช่เนื้อปลาหมึก เพื่อให้เนื้อมีสีขาวน่ารับประทาน แต่แน่นอนว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค
       
       3.กระทะน้ำยาล้างห้องน้ำ
       
       ปัญหาหนึ่งในร้านหมูกระทะคือการทำความสะอาดกระทะที่เป็นรอยดำจากเศษเนื้อไหม้ที่ติดฝังแน่นบนกระทะ การทำความสะอาดจำเป็นต้องใช้เวลานาน ทำให้ร้านหมูกระทะบางแห่งใช้น้ำยาล้างห้องน้ำมาแช่กระทะเพื่อประหยัดเวลาและต้นทุนในการทำความสะอาด ทว่าน้ำยาล้างห้องน้ำไม่เหมาะกับการนำมาทำความสะอาดกระทะ และอาจมีสารเคมีตกค้างอยู่ได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาบำบัดเผยว่า แม้จะระบุไม่ได้ว่ามีการใช้สารเคมีชนิดใดทำให้ไม่สามารถระบุถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่สารเคมีเหล่านั้นย่อมส่งผลเสียต่ออวัยวะภายในแน่นอน
       
       4.ย่างไม่สุกเสี่ยงติดเชื้อ
       
       จากกรณีของนักศึกษาปริญญาโทที่ได้ไปรับประทานหมูกระทะที่ร้านแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ แล้วล้มป่วยจนเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่า ผู้ตายอาจได้รับเชื้อมาจากการกินเนื้อสัตว์ไม่สุก เมื่อเจาะน้ำไขสันหลังมาตรวจก็พบว่า มีเชื้อแบคทีเรียจำนวนมาก โดยเบื้องต้นพบว่าเป็นสารปนเปื้อนที่อยู่ในเนื้อปลา แม้ว่าจะยังมีตัวแปรของสุขภาพของผู้รับประทานเอง เพราะกลุ่มเพื่อนที่ไปกินด้วยไม่ได้มีอาการใดๆ ดร. สุรสิงค์ วิศรุตรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เผยว่า การติดเชื้อนั้นอาจมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งผู้บริโภคควรงดรับประทานอาหารดิบซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
       
       ยกระดับหมูกระทะข้างทาง
       
       การรับประทานอาหารนั้น สิ่งที่ควรจะให้ความสำคัญลำดับแรกคือปลอดภัย แต่หลายคนกลับเลือกมองข้าม ด้วยปริมาณที่ล่อใจ กับราคาที่ถูกจนยากจะปฏิเสธ พร้อมกันนั้นประเทศไทยก็ยังขาดกลไกในการตรวจสอบเพื่อปกป้องผู้บริโภค ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงอุปนิสัยการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยเท่าที่ควร
       
       เชฟ สุริยันต์ ศรีอำไพ อุปนายกสมาคมพ่อครัวไทย ให้ความเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้นนี้ว่า มาตรฐานของร้านอาหารประเภทหมูกระทะนั้นแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

   ระดับหมูกระทะที่ได้มาตรฐานมีแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ซึ่งร้านประเภทนี้จะมีมาตรฐานความปลอดภัยตั้งแต่การจัดซื้อวัตถุดิบ รวมไปถึงการจัดเตรียมอาหาร การแล่เนื้อ การเตรียมห้องเย็นสต็อกเนื้อสด ซึ่งจะมีมาตรฐานและมีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่ง โดยจะมีกลุ่มผู้บริโภคอยู่ระดับกลางไปถึงระดับบน
       
       “กลุ่มนี้คือจะมีกำลังซื้อซึ่งเขาจะเลือกที่จะไม่เสี่ยง และมองหาร้านอาหารที่ได้มาตรฐานในการกิน ทั้งอรรถรส ความอร่อย หรือความพิถีพิถันในการรับประทาน ตรงนั้นราคาก็จะอีกระดับหนึ่งเลย”
       
       เมื่อมองถึงกรณีหมูกระทะทั่วไปตามริมทางซึ่งเป็นที่นิยม และมีการเปิดกันมากมายแทบจะทุกหัวระแหง เชฟสุริยันต์ เผยว่า ไม่สามารถทราบได้ถึงมาตรฐานด้านความปลอดภัย หรือมาตรฐานของวัตถุดิบเพราะในประเทศไทยนั้นมีการตรวจสอบน้อยมาก
       
       “แล่เนื้อเองหรือยังไง เนื้อหมูเป็นเศษเนื้อหรือเปล่า อันนี้ไม่สามารถบอกได้เลย ประเทศไทยให้ความสำคัญกับตรงนี้น้อยมาก”
       
       นอกจากนี้ การใช้ตะเกียบชุดเดียวก็อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ จากการคีบเนื้อดิบ กับเนื้อสุกเข้าปาก เพราะปกติแล้วผู้บริโภคก็รับประทานกันด้วยตะเกียบชุดเดียว
       
       “บางครั้งผู้ประกอบการอาจจะบริหารจัดการคนละส่วน ซึ่งในครัวก็อยู่ที่จริยธรรมของเชฟด้วย แบ่งงานถูกมั้ย? เก็บผักถูกมั้ย? คนเดียวคงจะทำไม่ได้ ต้องใช้หลายๆส่วน และหลายส่วนก็ไม่มั่นใจว่าจะถูกอบรมมาในเรื่องของการควบคุมคุณภาพ การรับสมัครมาเป็นผู้ช่วยตำแหน่งอาจจะไม่ได้ใช้คนที่เชี่ยวชาญด้านนี้ แต่ถามว่าร้านหมูกระทะคำนึงถึงความปลอดภัยมั้ย? ทุกคนคำนึงถึงแต่มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น”
       
       ดังนั้น บางครั้งการไม่มีความรู้ในด้านของความปลอดภัยของอาหารก็เป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการที่ร้านหมูกระทะเป็นที่นิยมขึ้น เกิดจากการให้คุ้มค่าในด้านของปริมาณ อุปนายกสมาคมพ่อครัวไทยเผยว่า กลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงล่างไม่ได้ให้ความสำคัญกับสุขอนามัยเท่าที่ควร บอกได้ว่า เอาปริมาณ เอาความอิ่มเป็นที่ตั้ง
       
       “พอราคาถูกของก็จะไม่ค่อยมีคุณภาพไปโดยปริยาย มันอาจจะมีคุณภาพอยู่ระดับหนึ่ง แต่ส่วนมากลูกค้าระดับกลางไปถึงล่างจะกินตามร้านทั่วไป พวกนี้กำลังซื้อน้อย อาจจะบุฟเฟต์ 59 - 69 บาท ตัวร้านเองก็ต้องทำยังไงก็ได้เพื่อให้มีกำไร
       
       ทั้งนี้ การรับประทานอาหารที่ไม่ปรุงให้สุกก็มีอยู่ในวัฒนธรรมการกินแบบพื้นบ้านของไทย ไม่ว่าจะเป็นส้มตำ หรือกุ้งเต้น ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ มากขึ้น
       
       อย่างไรก็ตาม การที่ร้านหมูกระทะมีเปิดขึ้นมากมายส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ผู้บริโภคไม่ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการรับประทานอาหารมากนัก
       
       “คนไทยไม่ค่อยสนเรื่องความปลอดภัยเท่าไหร่ คือมันอยู่ที่ผู้บริโภคเองด้วยว่าเขาคำนึงถึงคุณภาพตรงนั้นขนาดไหน ถ้าคนที่มีความรู้ การศึกษามาก คำนึงถึงความปลอดภัยกันมาก และการมากินหมูกระทะก็เป็นการมาสังสรรค์กันอย่างหนึ่งด้วย”
       
       สิ่งที่ควรเกิดขึ้นจากบทเรียนของกรณีที่เกิดขึ้นคือการมีหน่วยงานในการตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ หรือหน่วยงานของรัฐบาล ควรมีการจัดเจ้าหน้าที่ออกสุ่มตรวจเพื่อป้องกัน ซึ่งหากเทียบกับต่างประเทศจะมีการให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยของผู้บริโภคมาเป็นอันดับแรก
       
       “ถ้าไม่สะอาด ทิ้งทันที สั่งปิด เขาไม่สนว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายของทางร้านอาหาร เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญที่สุด แต่ในประเทศไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น เราให้ความสำคัญกับตรงนี้น้อยมากๆ มีเพียงบางกรณีที่คนแจ้งเบาะแสว่า กินแล้วเจ็บป่วย หรือพบแมลงสาบ แต่ก็มีน้อยมาก”
       
       ในส่วนของร้านอาหาร แม้จะต้องคำนึงถึงกำไร หากทว่าความปลอดภัยของผู้บริโภคนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ เชฟ สุริยันต์ มองว่า หากเป็นไปได้ร้านหมูกระทะควรมีการให้ความรู้ด้านความปลอดภัยของอาหารกับพนักงาน อาจจะเชิญวิทยากร หรือเชฟเพื่อแนะนำ อบรม และพัฒนาตัวเองเพื่อสร้างสรรค์รายละเอียดของการกินอาหารเพื่อสร้างจุดขายให้กับผู้บริโภค
       
       “นอกจากประโยชน์ทางด้านความปลอดภัยแล้ว การเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพยังทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้อีกด้วย เพราะทุกวันนี้ ร้านหมูกระทะมีเยอะมาก การแข่งขันสูง ความมั่นใจของผู้บริโภคเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ”
       
       ไม่ว่าร้านหมูกระทะ หรือผู้บริโภคจะเป็นต้นเหตุของวัฒนธรรมการกินที่วางความปลอดภัยไว้ทีหลัง และเน้นความคุ้มค่าของรายการอาหาร และปริมาณที่รับประทานมาก่อน แต่มาถึงตอนนี้ คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าความปลอดภัยควรจะมาก่อนสิ่งอื่นเสมอ
        
       เรื่องโดย ทีมข่าวLive

ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ : www.manager.co.th                   
Create By: Pal_Pitchapong 



 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Justin Bieber, Gold Price in India