วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

จริงหรือไม่..ที่เข้าใจเกี่ยวกับ...มะเร็งลำไส้



   ถ้าพูดถึง "โรคมะเร็ง" คงไม่มีใครอยากให้ตัวเอง และคนที่เรารักเป็นโรคนี้ แต่บางครั้งก็อดกังวลไม่ได้ เพราะอาการบางอย่างทำให้คิดไปต่างๆนานาว่า มะเร็งกำลังถามหาอยู่หรือไม่ วันนี้ทีมงาน Life & Family มีข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์จากโรงพยาบาลบีเอ็นเอชเกี่ยวกับโรคมะเร็งในลำไส้มาฝากกัน ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามอ่านกันเลยครับ
       
       ท้องผูกเป็นประจำ สลับกับท้องเสีย คืออาการแสดงออกของมะเร็งลำไส้จริงหรือไม่
       
       ตอบ : ไม่ใช่แค่ท้องผูกเท่านั้น อาการผิดปกติของลำไส้ เช่น ท้องเสียบ่อย และติดต่อกันเป็นเวลานาน
       
       อาหารจานโปรด ประเภทปิ้งย่าง เป็นตัวการสำคัญของมะเร็งลำไส้จริงหรือไม่
       
       ตอบ : อาหารปิ้งย่าง กำลังได้รับความนิยม แต่หลายคนอาจลืมไปว่าการรับประทานอาหารปิ้งย่างที่ไหม้เกรียมเป็นประจำ โอกาสที่จะได้รับสารก่อมะเร็งจากอาหารรมควัน และอาหารปิ้ง ย่าง ทอด เช่น เนื้อย่าง บาร์บีคิว และสเต็กย่อมมีได้สูง



       อาหารหมักดอง เป็นตัวก่อมะเร็งจริงหรือไม่
       
       ตอบ : อาหารที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหารก่อให้เกิดสารอันตรายที่เป็นปัจจัยการเกิดมะเร็ง เช่น กลุ่มโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ซึ่งหากสะสมในร่างกาย มีโอกาสก่อมะเร็งได้ในอนาคต
       
       หากผลตรวจเลือดในอุจจาระเป็น possitive หมายความว่าเป็นมะเร็งลำไส้แน่ๆจริงหรือไม่
       
       ตอบ : มีเพียง 2-5% ของผู้ป่วยที่พบว่ามีเลือดปนในอุจจาระแล้วเป็นมะเร็งลำไส้ ซึ่งต้องยืนยันผลซ้ำด้วยการตรวจหา DNA ของมะเร็ง และการตรวจส่องกล้องลำไส้ (Colonocopy)
       
       หากพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ แสดงว่าเป็นมะเร็งลำไส้แล้วใช่หรือไม่
       
       ตอบ : ไม่เสมอไป จนกว่าจะได้รับการยืนยันความผิดปกติของชิ้นเนื้อที่พบว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่ ด้วยการตรวจส่องกล้องลำไส้เพื่อความแน่ใจ ซึ่งไม่ต้องกลัวเจ็บแต่อย่างใด
       
       ผู้ชายมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้มากกว่าผู้หญิงจริงหรือไม่
       
       ตอบ : เพศชายหรือเพศหญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ได้เท่าๆกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเอง พฤติกรรมการรับประทานอาหาร ตลอดจนรูปแบบการใช้ชีวิต


        คนที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง มีโอกาสสูงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ได้มากกว่าคนปกติจริงหรือไม่
       
       ตอบ : กรรมพันธุ์ หรือพันธุกรรม เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคมะเร็ง โดยมีส่วนเพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ได้ แต่พบไม่บ่อยนัก อย่างไรก็ตาม ประวัติมะเร็งลำไส้ในครอบครัว เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ได้มากขึ้น โดยกลุ่มนี้ควรเริ่มตรวจส่องกล้องลำไส้ตั้งแต่อายุ 40 ปี
คนอายุน้อยก็มีสิทธิเป็นมะเร็งลำไส้ได้จริงหรือ
       
       ตอบ : โรคมะเร็งลำไส้ ส่วนมากจะพบในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ไม่ได้หมายความว่าคนอายุน้อยจะไม่มีโอกาสเป็น เนื่องจากมะเร็งดังกล่าวใช้เวลาในการก่อตัว กว่าจะพบอาการแสดงออกอย่างชัดเจนต้องใช้เวลานาน
       
       คนที่เป็นมะเร็งลำไส้ มีโอกาสหายขาดได้หรือไม่
       
       ตอบ : หากตรวจพบก้อนเนื้อร้ายได้เร็ว การรักษาก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก หรือสะบักสะบอมจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด
       
       ตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่รักษามะเร็งลำไส้ได้จริงหรือ
       
       ตอบ : การตรวจอย่างละเอียดด้วยการส่องกล้องตรวจภายในลำไส้ใหญ่ช่วยคัดกรองความผิดปกติที่เกิดขึ้นในลำไส้ได้อย่างแม่นยำ หากพบระยะก่อนมะเร็ง และทำการรักษาได้ทันท่วงที คนไข้สามารถกลับมาให้ชีวิตได้ตามปกติ
       
       อาการถ่ายอุจจาระ มีเลือดปนและปวดท้องเป็นประจำ คืออาการแสดงออกของมะเร็งลำไส้จริงหรือไม่
       
       ตอบ : อาการถ่ายอุจจาระ มีเลือดปน อาจเป็นอาการของริดสีดวงทวารได้ และอาการปวดท้องเป็นประจำไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นมะเร็งลำไส้อย่างเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ปวดและอาการร่วมอื่นๆ จึงควรให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง และทำการรักษาต่อไป
       
       หากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ การผ่าตัดคือหนทางการรักษาที่ดีที่สุดจริงหรือไม่
       
       ตอบ : การผ่าตัดเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเอามะเร็งออก ซึ่งวิธีการผ่าตัดและการติดตามการรักษาขึ้นกับขนาดและการกระจายของมะเร็ง



       
       เราจะป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ได้หรือไม่
       
       ตอบ : เป็นการยากที่จะกำจัดและป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งลำไส้ทั้งหมด ดังนั้นการตรวจหามะเร็งลำไส้ตั้งแต่ต้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่อย่างไรก็การดูแลตัวเอง รับประทานอาหารที่มีเส้นใยมาก โดยเฉพาะผัก ผลไม้ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงของโรคมะเร็งได้อย่างน่าสนใจ...

มะเร็งลำไส้” รักษาหาย ป้องกันได้!
   หากเอ่ยถึงมะเร็ง แทบทุกคนย่อมนึกไปถึงโรคร้ายแรงที่ยากต่อการรักษา แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีมะเร็งบางชนิดที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถรักษาให้หายได้ หากอาการป่วยนั้นอยู่ในระยะที่ไม่สาหัสจนเกินไป และอีกทั้งที่หลายคนไม่รู้ก็คือ สามารถป้องกันได้ด้วยตนเองโดยวิธีง่ายๆ หนึ่งในนั้นก็คือ “มะเร็งลำไส้” ที่ในทุกวันนี้ได้มีอัตราการป่วยเพิ่มขึ้นถึงปีละ 1,000 คน 

   พ.อ.นพ.ปริญญา ทวีชัยการ ประธานชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งลำไส้ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ว่า ใน 1 ปี มีชาวอเมริกันเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวถึง 50,000 คน และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2ของอเมริกันชนอีกด้วย ขณะที่ในเมืองไทยนั้น มะเร็งลำไส้ถูกพบเป็นอันดับ 5 ในผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด และในระยะหลังจากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่า ผู้ป่วยจำนวนมากเป็นคนแถบภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร


       สำหรับสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่ประการแรก คือ กรรมพันธุ์ที่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการทำรูปแบบชีวิตให้แข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรค แต่ก็มีผู้ป่วยไม่น้อยที่ไม่มีประวัติด้านกรรมพันธุ์ แต่ก็ป่วยด้วยโรคนี้ ซึ่งนั่นเป็นเพราะส่วนหนึ่งใช้ชีวิตที่มีไลฟ์สไตล์แบบผิดๆ เช่น ไม่ออกกำลังกาย ทำงานหนัก ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เครียด รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์(เส้นใยอาหาร)น้อย หรือไม่กินอาหารที่มีไฟเบอร์เลย เป็นต้น
       “ต้องบอกว่าหากย้อนหลังกลับประมาณ 50–60 ปี คิดว่าผู้ป่วยโรคนี้ในเมืองไทยน่าจะน้อย เพราะไลฟ์สไตล์คนไทยในยุคนั้นเรานิยมกินผักเป็นพื้นาน เรียกได้ว่าไม่ว่ามื้อไหนก็จะต้องมีผักขึ้นโต๊ะ และจริงแล้วมะเร็งลำไส้นี้เป็นโรคของคนตะวันตก เพราะไลฟ์สไตล์ของเขาเป็นพวกกินเนื้อ เพราะสำหรับเมืองหนาวนี่ผักแพงกว่าเนื้อ เขาก็เลยไม่ค่อยได้กินผัก แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือวัฒนธรรมการกินของคนไทยในยุคปัจจุบันที่นิยมกินเนื้อสัตว์มากกว่ากินผัก ซึ่งตรงนี้อันตรายมาก
       
       พ.อ.นพ.ปริญญา กล่าวต่อไปว่า ความน่ากลัวที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น “ภัยเงียบ” ของโรคนี้ ก็เพราะในระยะแรกๆ ของการป่วย ผู้ป่วยจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าตนเองกำลังถูกมะเร็งร้ายคุกคามอยู่ เพราะแทบจะไม่มีอาการใดๆ บ่งบอกทั้งสิ้น


       
       “คืออาการแรกของมะเร็งลำไส้ก็จะมีเพียงอึดอัด แน่นท้อง น้ำหนักลด อุจจาระมีเลือดปน ซึ่งบ่อยครั้งจะถูกคิดว่าเป็นริดสีดวง และอาการอุจจาระลำเล็กลง เพราะระยะเริ่มต้นของโรคนี้จะไม่ได้เกิดตูมเดียวแล้วเป็นเซลล์มะเร็ง แต่มันจะเกิดเป็นเนื้องอกก่อน ซึ่งหากเราพบมันก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง ก็จะทำเพียงตัดมันออกด้วยการส่องกล้อง ซึ่งเป็นการผ่าที่สะดวกมาก แถมคนไข้ก็แทบจะไม่เจ็บปวดเลย เพราะส่วนนั้นจะเป็นส่วนที่ไม่มีเส้นประสาท เมื่อตัดเสร็จ 6 ชม.พักฟื้น จากนั้นก็ขับรถกลับบ้านเองได้ แต่การที่คนเราจะสังเกตได้ในระยะแรกนั้นค่อนข้างทำได้ยาก เท่าที่เห็นคืออาการเพียบแล้วถึงจะหามมาหาหมอ”
       
       “ในเรื่องของการสังเกตลำอุจจาระนั้น ก็เพราะการมีติ่งหรือก้อนเนื้อขึ้นมานั้นจะทำให้ทางออกของอุจจาระแคบลง ซึ่งจะบีบอุจจาระให้เล็กลง ซึ่งหากเจ้าตัวพบความผิดปกติตรงนี้ก็สามารถมาตรวจได้เป็นการป้องกันไว้เบื้องต้น แต่ถ้ามาในระยะที่เป็นมะเร็งแล้วโอกาสมีชีวิตอยู่ของคนไข้ก็จะลดทอนลงตามส่วน ซึ่งในเรื่องของการรักษาก็จะมีตั้งแต่การตัดเนื้อร้ายทิ้ง ให้เคมีบำบัด และฉายแสง ตามระยะความร้ายแรง และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง”


       พ.อ.นพ.ปริญญา บอกว่า การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การใช้ชีวิตอย่างมีภูมิต้านทานแบบง่ายๆ คือการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดื่มน้ำมากประมาณ 2.5-3 ลิตรต่อวัน และกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูหรืออาจจะเสริมด้วยคอร์นเฟลกต์ตอนเช้า หรือไฟเบอร์แบบผงละลายน้ำ ซึ่งดีกว่าแบบเม็ดที่อาจจะมีโอกาสอุดตันทางเดินอาหารได้
       
       “ที่สำคัญที่สุด คือ การตรวจร่างกาย อันนี้สำคัญมาก เพียงแต่ตรวจร่างกายประจำปีตั้งแต่อายุ 30 ปี ส่วนมะเร็งลำไส้ควรตรวจตอนอายุ 50 ปี เพื่อที่เมื่อหากมีอาการแล้วจะได้รักษาได้ทันท่วงที ผมพยายามเป็นอย่างมากที่จะรณรงค์ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงหนทางป้องกัน และทางรักษาโรคนี้ โดยเฉพาะการตรวจร่างกาย การเช็คสุขภาพ ที่จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันและรับมือแต่เนิ่นๆ หากเกิดตรวจพบว่าป่วย”
             

       “ทางที่ดีที่สุด พยายามหัดขับถ่ายให้ปกติ แต่ถ้าทำได้คือควรถ่ายวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น เมื่อฝึกไปได้ระยะหนึ่งแล้วร่างกายจะชินกับการขับถ่ายแบบสองเวลานี้ไปเอง ซึ่งการถ่ายวันละสองครั้งนี้นั้นนอกจากจะเป็นการขับของเสียได้บ่อยขึ้นแล้ว ลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงก็จะรับภาระในการเก็บกากอาหารตกค้างที่เป็นของเสียน้อยลง” พ.อ.นพ.ปริญญาสรุป...

The Shock Story เรื่อง หนีศพมาเจอผี
ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ : www.manager.co.th / Internet                  
Create By: Pal_Pitchapong 




 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Justin Bieber, Gold Price in India