วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ความเปลี่ยนแปลงดีๆ พ่อแม่ยี้ ละครหลังข่าว เพิ่มสูง

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
   หลังจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางทีมงาน Life & Family ได้มีการนำเสนอบทความ "เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ตกเป็นเหยื่อละครหลังข่าว" อีกทั้งยังมีบทความจากคอลัมนิสต์ "คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน" เรื่อง “สื่อ” ตัวการกระตุ้นความรุนแรงในเด็ก..!! ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาที่สะสมในสังคมไทยผ่านสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมาช้านานอย่าง "ละคร" ได้อย่างชัดเจนนั้น

       
       ล่าสุด จากการติดตามความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ ทีมงานก็ได้พบว่ามีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลายทั้งในเว็บเพจของบทความดังกล่าวและในเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยผู้เป็นคุณพ่อคุณแม่ หลาย ๆ ความคิดเห็นส่งตรงถึงผู้ผลิตละครไทยว่าควรมีการพัฒนาปรับปรุงบทละคร และลด การแสดงออกของตัวละครที่เน้นความเว่อร์ รุนแรง สร้างความสะใจในการรับชมลง ขณะที่พ่อแม่อีกกลุ่มหนึ่งเสนอแนวทางหักดิบ "เลิกเสพ" ละครหลังข่าวเสียเลย เพื่อป้องกันลูก ๆ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อสื่อที่มีความรุนแรงเหล่านั้น
       
       นอกจากนั้น ทีมงานยังพบว่ามุมมองจากคนเป็นพ่อแม่ยุคใหม่ต่อผู้ผลิตละครไทยนั้นเป็นไปในแง่ลบมากขึ้น เช่น การไร้จิตสำนึก และขาดความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น ความคิดเห็นจากคุณแดงเปลี่ยนสี ที่เสนอว่า
       
       ผู้สร้างและผู้ผลิตและสื่อก็เอาแต่เงิน...เงินเป็นหลัก สังคมเป็นไงก็ช่าง โปรดสังเกตุ อีกหน่อยเมืองไทยจะมีนักร้องมากที่สุดในโลกเพราะมีรายการแข่งขันประกวดร้องกันมากๆๆๆๆ รายการสอนให้คนทำดี ทำเพื่อสังคมไม่คอยมีเลย
       
       และความคิดเห็นที่ 9 ของคุณ m ที่เสนอว่า
       
       มีคนที่ดูบอกว่ามันสอน ที่มันสอนมีแค่ไหน และที่มันทำลายทำร้าย อันไหนมีมากกว่ากัน ชั่งน.น.หรือเปล่า แน่ใจหรือว่าที่ดูเพราะมันสอน ไม่ใช่เพราะดูกระเหี้ยนกระหือรือ อยากดู ถ้ายอมรับความจริงตรงนี้ให้ได้ ว่าตัวตนเป็นแบบไหนก่อน ผญ.ควรมีวุฒิภาวะ แยกแยะอะไรดี-ชั่วละครแค่นี้สอนไม่ได้ ควรได้รับการอบรมสั่งสอนจากพ่อแม่ และการศึกษาเล่าเรียนมาตั้งแต่เด็ก ถ้าแค่ยังสอนไม่ได้ นับประสาอะไรก้บแค่ละครน้ำเน่า เป็นการกล่าวอ้างเท่านั้น แน่ใจหรือว่าดูคลายเครียด 
       
       ขณะที่โลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก ในกลุ่ม "พ่อแม่พันธุ์ใหม่หัวใจเกินร้อย" ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีคุณพ่อคุณแม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกจำนวนมากในเฟสบุ๊กก็พบว่ามีการโพสต์หัวข้อข่าวดังกล่าวลงในกลุ่มและมีการแสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวอย่างกว้างขวางเช่นกัน ยกตัวอย่างความเห็นที่น่าสนใจได้แก่
       
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
      Seksan Sek ท่าไม้ตายของผู้จัดละครไทยและดาราเวลาเกิดปัญหา ผู้ปกครองไม่ดูแลเด็กเองเราจัดเรทไว้หมดแล้ว ไม่อยากดูก็ไปดูช่องอื่นสิ
       
       ส่วนตัวผมก็อยากจะบอกเค้าตรง ๆ ว่า ถ้า TV เสรีมีซัก 20 ช่องจะกล้าพูดแบบนี้อีกรึเปล่า ชอบจังเลยเอาความมักง่ายตัวเองมาบิดเบือน เหมือนปัดขี้ออกจากตัวทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็สร้างความสกปรกทางความคิดของให้ผู้ชม อย่างดารานำเรื่องแรงเงาที่โทษผู้ปกครองไม่ดูแลเด็กสอนเด็กเอง (เด็ก8ขวบผูกคอตาย) ผมอยากให้ดาราคุณแม่ท่านนั้นเอาลูกของตัวเองดูเรื่องแรงเงาที่ตัวเองแสดงและสอนลูกตัวเองด้วยจะกล้ารึเปล่า?
       
       หรือความคิดเห็นจากคุณ Yui Kuntida ที่ว่า "จริง ๆ ไม่ใช่แต่ละครนะคะ ที่ต้องใช้คำอธิบาย "โฆษณาขายสินค้า" ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องอธิบายเหมือนกันน่ะคะ เพราะเด็ก ๆ เชื่อในสิ่งที่โฆษณาบอก ที่บ้านคุณยายจะดูข่าว ลูกก็จะเดินผ่านไปผ่านมา เวลาโฆษณาเธอจะสนใจ แม่ก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะปกติ ละครเนี่ยไม่ได้ให้ดูอยู่แล้ว จนวันนึง แม่หวีผมในรถแล้วผมร่วง ลูกวัย 5 ขวบก็พูดขึ้นมาว่า แม่ค่ะ ใช้ยาสระผมที่ในทีวีบอกซิค่ะ ให้รวบตึง แค่ไหนก็ไม่ร่วง (คือลูกพูดคำในโฆษณามาเลย แม่จำไม่ได้) แล้วพอค่อย ๆ คุย ลูกเข้าใจว่า การใช้ยาสระผมอันนั้นแล้ว คนเราจะผมไม่ร่วงอีกเลย เลยต้องอธิบายกันให้ฟังว่า "โฆษณาเค้าต้องการจะให้เราไปซื้ของที่เค้าขาย เค้าไม่ได้ทำได้จริง ๆ อย่างที่บอกทั้งหมดนะคะลูก" เช่น กินนมเด็กอันนี้ อันนั้นแล้ว เล่นดนตรีได้แบบในโฆษณา

       
       สิ่งที่อยากฝากถึงบรรดาผู้ผลิตละครเรื่องต่าง ๆ คงหนีไม่พ้น คำถามสั้น ๆ คำถามหนึ่งที่ว่า ถ้าวันหนึ่ง ลูกของคุณเลียนแบบพฤติกรรมในละครที่คุณสร้าง แล้วนำไปก่อความเดือดร้อนให้กับสังคม เช่น ไปข่มขืนผู้หญิง ไปตบตีเพื่อนร่วมงาน ถึงวันนั้น คุณจะออกมากล่าวโทษสิ่งใด ระหว่าง ตัวคุณเองในฐานะพ่อแม่ที่ดูแลลูกไม่ดี ปล่อยให้ซึมซับสื่อรุนแรงจนมีผลต่อพฤติกรรม หรือจะโทษผลงานละครที่คุณสร้างในฐานะผู้ผลิตสื่อที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม!...
   แต่ถ้าเลือกได้ เราเชื่อว่าคงไม่มีผู้จัดละครคนใดอยากตอบคำถามนี้เป็นแน่...

ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ : www.manager.co.th                   
Create By: Pal_Pitchapong 



 

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Justin Bieber, Gold Price in India